การปลูก การดูแล และสายพันธุ์ ต้นมะม่วงหิมพานต์ ในประเทศไทย

พันธุ์มะม่วงหิมพานต์ มีมากกว่า 400 พันธุ์ ถ้าแยกตามสีผลก็มี สีเหลือง สีแดง สีครั่ง และสีแดงปนชมพู พันธุ์ที่ปลูกต้องให้ผลผลิตเมล็ดสูง ขนาดเมล็ดต้องใหญ่ มีน้ำหนักไม่เกิน 200 เมล็ด ต่อกิโลกรัม คุณภาพเมล็ดดี สีสวย เปอร์เซ็นต์กะเทาะดี ไม่น้อยกว่า 25% ต้านทานโรคแมลงศัตรูพืชได้ดี ผลปลอมมีขนาดเล็ก ติดช่อมาก เมล็ดเนื้อในแน่นไม่เป็นโพรง เปลือกบาง น้ำมันน้อย กะเทาะง่าย ทรงต้นเตี้ย ปลูกได้จำนวนต้นต่อไร่มาก พันธุ์ที่มีส่งเสริมให้ปลูก ได้แก่ พันธุ์ ศรีสะเกษ 60-1 (ศก 5.0), 60-2 (ศก 5.10) พันธุ์ศิริชัย 25 พันธุ์อินทร์สมิต เป็นต้น

ใบมะม่วงหิมพานต์

การปลูกสามารถปลูกด้วยเมล็ดแก่ที่แช่น้ำแล้วนำลงหยอดหลุมได้เลย หรือเพาะเมล็ดลงถุงดินก่อน 2 เดือน ย้ายปลูก  เมล็ดนั้นต้องคัดเอามาจากต้นพันธุ์ดี ให้ผลผลิตสูง การปลูกด้วยกิ่งตอน ต้องเป็นกิ่งที่ตอนมาจากต้นอายุ 5-6 ปีแล้ว กิ่งต้องสมบูรณ์ ไม่มีโรคแมลงรบกวน ปกติการตอนจะใช้ฮอร์โมน ไอบีเอ ความเข้มข้น 500 ppm. หรือจะปลูกด้วยกิ่งที่ติดตา หรือเสียบยอดใหม่ ระยะปลูก ระหว่างต้น 6 เมตร ระหว่างแถว 6-7 เมตร จะปลูกเป็นตารางสี่เหลี่ยม หรือสามเหลี่ยม ในระยะปลูกนี้ก็ได้

ถ้าปลูกแซมพืชอื่น ควรเว้นช่องหลุมปลูกเพื่อเอาผลผลิตพืชนั้นออก หลุมปลูก 50 เซนติเมตร ลึกพอประมาณ ผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักกับหน้าดินกลบต้น การให้ปุ๋ยเคมี ใช้สูตรคำนวณแบบวิชาการ วัดจากโคนต้นขึ้นมา 90 เซนติเมตร วัดเส้นผ่าศูนย์กลางต้น 2.5 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ย 1 กิโลกรัม แต่ถ้าจะให้ดีเจาะดินไปตรวจวิเคราะห์หาค่าธาตุอาหารพืชก่อนจะดีมาก

มะม่วงหิมพานต์ มีประโยชน์ สารประกอบที่มีอยู่ในเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ได้แก่ น้ำ 5.9% โปรตีน 21.0% ไขมัน 47.0% คาร์โบไฮเดรต 22.0% แร่ธาตุ 2.4% แคลเซียม 0.5% ฟอสฟอรัส 0.4% เหล็ก 5.0 มิลลิกรัม แคโรทีน 100 i.u/100 กรัม

แต่ที่เปลือกหุ้มเมล็ดจะมีน้ำมันออกฤทธิ์เป็นกรดอย่างแรง คือกรดอานาคาร์ดิก 90% และกรดคาดอล 10% ถ้าถูกผิวหนังจะพองเป็นแผลเปื่อย แต่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทำสีย้อม และใช้ทาผลิตภัณฑ์ไม้ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆป้องกันปลวก มอด แมลง ผสมน้ำมันก๊าด หรือพาราฟินเหลว ราดแอ่งน้ำกำจัดลูกน้ำยุง เปลือกใช้เผาสุมไฟป้องกัน หรือไล่ยุงได้ เป็นยารักษาโรคผิวหนัง อุตสาหกรรมพลาสติก สี ผ้าเบรกรถ แผ่นคลัตช์รถ กระเบื้องยางปูพื้น ฉนวนหุ้มสายไฟฟ้า สามารถทนต่อกรด ด่าง ความร้อน และแรงเสียดสีได้ดี

ณ วันนี้ มะม่วงหิมพานต์ มีปลูกกันแพร่หลายไปทั่ว กำลังจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของบ้านเรา ถึงแม้จะต้องแข่งขันกับประเทศต้นกำเนิดและประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ แต่เชื่อเหลือเกินว่าด้วยศักยภาพของพื้นที่ ของเกษตรกร ของระบบการพัฒนาผลิตผลการเกษตรของประเทศไทย เราสู้เขาได้สบายมาก โดยเฉพาะถ้าเกษตรกรเรามีแนวคิดเปลี่ยนปรับจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มักจะได้รับผลกระทบเชิงลบ มาปลูกพืชผสมดูบ้าง แล้วเราคงจะห่างไกล และหลุดพ้นจากคำว่า “ปัญหา” ไปได้อย่างยั่งยืน

(ข้อมูลจาก : http://www.technologychaoban.com)

ท่านใดที่นำข้อมูลไปเผยแพร่ต่อ กรุณาให้เครดิตทาง 

(กันเองมะม่วงหิมพานต์  https://www.kunengfood.com) ด้วย ขอบคุณค่ะ (^/\^)

เขียนโดย kaneang